หลวงปู่อุทัย สิริธโร

เจ้าอาวาส วัดเขาใหญ่ญาณสัมปันโน

องค์หลวงปู่อุทัย สิริธโร มีนามเดิมว่า นายอุทัย บุญทศ ซึ่งเป็นนามสกุลฝ่ายคุณยาย ท่านพระอาจารย์เกิดเมื่อ วันที่ ๑๒ มี.ค. ๒๔๗๙ ณ บ้านหนองบก ต.หนองหิน อ.ยโสธร จ.อุบลราชธานี (ปัจจุบันขึ้นกับ จ.ยโสธร) โยมบิดาชื่อ นายเสาร์ กาประจง โยมมารดาชื่อ นางพันธ์ บุญทศ มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๓ คน ท่านพระอาจารย์ เป็นบุตรคนโต
คนรองเป็นชาย และคนสุดท้องเป็นหญิง การศึกษาท่านเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ นับว่าสูงสุด ในชนบทสมัยนั้น

เมื่อเรียนจบแล้ว ท่านออกมาทำงานช่วยบิดามารดา เช่น ทำนา ทำสวน เป็นต้น จนอายุครบ ๒๑ ปี จึงได้อุปสมบท เป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๙        
ณ วัดสำราญนิเวศน์
ต.ปุ่ง อ.อำนาจเจริญ จ.อุบลราชธานี (ปัจจุบันนี้ขึ้นอยู่กับ จ.อำนาจเจริญ) มีพระครูทัสสนะประกาศเป็นพระอุปัชฌาย์ พระใบฎีกาอ่อนเป็นพระกรรมวาจาจารย์

เมื่ออุปสมบทแล้วท่านมาจำพรรษา ณ วัดป่าบ้านหนองบก จ.ยโสธร ซึ่งเป็นวัดสาขาของหลวงปู่ผั่น ปาเรสโก เป็นเวลา ๓ พรรษา (พ.ศ. ๒๕๐๒) แล้วออกแสวงหาครูบาอาจารย์    
มาพักจำพรรษาอยู่กับหลวงปู่สิม พุทธาจาโร และหลวงปู่แว่น ธนปาโล ณ วัดสันติสังฆาราม จ.สกลนคร เป็นเวลา ๒ พรรษา (๒๕๐๒-๒๕๐๓) จากนั้น องค์หลวงปู่อุทัยมาพักปฏิบัติธรรมอยู่กับองค์หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ณ วัดถ้ำขาม อ.พรรณานิคม แล้วอยู่จำพรรษากับ องค์หลวงปู่ฝั้น ที่วัดป่าอุดมสมพรและวัดถ้ำขาม จนองค์หลวงปู่ฝั้นท่านมรณภาพลงในปีพ.ศ.๒๕๒๐

หลังจากนั้นองค์หลวงปู่อุทัยได้ปลีกวิเวกมาพักที่ถ้ำพระภูวัว ต.โสกก่าม อ.เชกา จ.หนองคาย (ซึ่งเป็นที่ปฏิบัติธรรมขององค์หลวงปู่ฝั้น อาจาโร มาก่อนจนถึงเป็นวัดสมบูรณ์
จวบจนมาถึงปัจจุบัน) เมื่อครั้นเสร็จงานพระราชทานเพลิงศพ ขององค์หลวงปู่ฝั้น อาจาโร เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๒๑ องค์หลวงปู่อุทัยก็จำพรรษา อยู่ที่ถ้ำพระภูวัวเรื่อยมา

ปัจจุบันตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ ท่านได้รับความเมตตาจากองค์หลวงตามหาบัว วัดป่าบ้านตาด ให้มาช่วยพัฒนา วัดเขาใหญ่ญาณสัมปันโน เพื่อให้เป็นที่เผยแพร่ธรรมะ
ขององค์พระศาสดา
สัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นที่ฝึกสอนเหล่าพระนักปฏิบัติทั้งหลาย ที่ตั้งใจฝึกปฏิบัติเพื่อพระพุทธศาสนา สามารถสืบทอดคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าให้มั่นคง คือ ปฏิบัติดีและปฏิบัติตรงเพื่อให้รู้แจ้งในธรรมอันเป็นเครื่องพ้นจากกองทุกข์ทั้งหลาย ทั้งปวงสืบไป

โอวาทธรรมหลวงปู่อุทัย สิริธโร

ให้สังเกตดูว่า เราฝึกทุกวัน ฝึกตั้งใจทุกวัน ใจของเรา ตั้งได้ดีมากน้อย ขนาดไหน ฝึกตั้งสติทุกวัน กำลังสติของเรา ตั้งได้มากน้อยขนาดไหน อันนั้นก็คือ เอาอารมณ์ของกิเลสตัณหามาเป็นเครื่องวัดว่า ตัวเราเองระงับ อารมณ์ประเภทนั้นได้ และปล่อยวางอารมณ์ประเภทนั้นได้มากน้อยขนาด ไหน ไม่ใช่ปล่อยวางแบบเห็นทุกข์เห็นโทษนะ ถ้าปล่อยวางแบบเห็นทุกข์ เห็นโทษมันเป็นลักษณะของปัญญา การปล่อยวางแบบสมาธิ เพียงแต่เอา กำลังของสติ เอากำลังของสมาธิ ที่มีความหนักแน่น ระงับกลบมันไว้เฉยๆ ปิดมันไว้เฉยๆ แต่เรื่องกิเลสตัณหาอันนั้น มันยังมีโอกาสที่จะกลับขึ้นมา ใหม่ พุ่งขึ้นมาใหม่ได้อีก

ฉะนั้น จึงให้พิจารณาให้เข้าใจให้รู้แจ้งตามสภาวธรรมความเป็นจริงอันนั้น คือ ใช้ปัญญาพิจารณาสิ่งนั้นๆ ที่จะให้เกิดปัญญารู้ตามสภาวะความเป็น จริงได้ ก็เรียนรู้จากร่างกายของตัวเอง เรียนรู้จากอารมณ์ฝ่ายเหตุคือกิเลส ตัณหาภายในใจของตัวเอง ดูสิว่า รูปร่างกายของคนเรา ส่วนไหนมันเป็น สาระแก่นสารบ้าง ที่เราไปให้ความหมายว่า เป็นสิ่งที่เป็นสาระ แล้วไปหลง ยึดมั่นในรูปนั้นว่า เป็นสาระแก่นสาร ความจริงแล้ว รูปร่างกายอันนี้ ทุกสิ่ง ทุกอาการที่ปรากฏ มันล้วนแล้วแต่จะผุพังไปตามสภาวธรรม คือ ความแก่ ความเจ็บ ความตาย แล้วสลาย กลายไปเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ กันทั้งนั้น หรือจะพิจารณาไปในแง่ "อสุภะ" ความไม่สวยไม่งาม ความ ปฏิกูลโสโครก ความสกปรก
ในโลกอันนี้ คำว่าสกปรกโสโครกนั้น มันไม่มี อะไรจะสกปรกโสโครกมากไปกว่ารูปร่างของมนุษย์นี้หรอก